เวปไซต์ พระเครื่องเมืองลุง โดย บก.หนูนุ้ย เมืองลุง moradokthai@hotmail.com โทร.081-8544472

ถ้ำฉัททันต์

     ถ้ำฉัททันต์ เป็นถ้ำโบราณตั้งอยู่ที่เขาอ้อ ปากถ้ำหันไปทางทิศใต้ สาเหตุที่เรียกว่าถ้ำฉัททันต์ เนื่องจากบริเวณเพดานถ้ำตอนหน้า มีหินปูนคล้ายรูปงวงช้าง ซึ่งคนในสมัยก่อนเข้าใจว่าหมายถึง พระยาช้างฉัททันต์ อดีตชาติของพระพุทธเจ้า จึงเรียกถ้ำนี้ว่า " ถ้ำฉัททันต์ " ถ้ำนี้มีความกว้างประมาณ 7 เมตร ยาวประมาณ 30 เมตร ปากถ้ำเดิมก่อด้วยอิฐถือปูน มีบานประตูทำด้วยไม้ 1 ประตู ปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่แล้ว ภายในถ้ำมือสนิท มีค้างคาวอาศัยอยู่มากมาย สภาพถ้ำจึงสกปรกเพราะขาดการดูแลรักษาเท่าที่ควร เมื่อถึงฤดูทำนาชาวบ้านจะเข้าไปขุดมูลค้างคาวตามผนังถ้ำ จึงมีเขม่าไฟตะเกียงติดดำไปหมด ตอนลึกที่สุดของถ้ำมีปล่องอากาศทะลุยอดเขา ทำให้เกิดแสงสว่างขึ้นในส่วนนี้ของถ้ำ สิ่งที่น่าสนใจภายในถ้ำนี้ ได้แก่ พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน 11 องค์ พระสาวกพนมมือจำนวน 2 องค์ พระพุทธรูปเหล่านี้ ประดิษฐานเรียงรายไปตามผนังถ้ำด้านซ้ายมือของถ้ำ
     ตามหลักฐานสารตราของเข้าพระยานครศรีธรรมราช มีมาถึงพระยาแก้วโกรพพิชัยบิดนทร เดชอภัยพิริยะพาหะเจ้าเมืองพัทลุง เขียนลงวันเสาร์ เดือน 9 ขึ้น 8 ค่ำ ปีระกา จุลศักราช 1103 (พ.ศ.2284) ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา มีใจความตอนหนึ่งว่า "ด้วยขุนศรีสมบัตินายกองสุราไปฟ้องว่า ที่วัดเขาอ้อนี้เป็นวัดสร้างมาก่อน แล้วกลับรกร้างสิ่งก่อสร้างชำรุดเสื่อมโทรมลงคราวหนึ่ง พระมหาอินทราชมาจากเมืองปัตตานี ได้มาเป็นเจ้าวัด และได้จัดการปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ โดยมีปะขาวขุนแก้วเสนา ขุนศรีสมบัติเป็นหัวหน้าฝ่ายคฤหัสถ์ ช่วยกันซ่อมพระพุทธรูปภายในถ้ำ 10 องค์ ซึ่งปรักหักพังเสร็จแล้ว ดำเนินการสร้างเสนาสนะอื่นๆ จึงเป็นที่ยุติได้ว่าพระพุทธรูปสร้างมาก่อน พ.ศ.2284 แต่ปรักหักพังจึงได้บูรณะขึ้นใหม่ ส่วนรูปพระสาวกทั้ง 2 องค์ กับพระพุทธรูปอีก 1 องค์ เข้าใจว่าจะมาต่อเติมเมื่อภายหลัง ต่อมาคงจะมีการซ่อมแซมใหม่กันหลายครั้ง จนเปลี่ยนแปลงลักษณะเดิมไปหมด
     ปัจจุบันพระพุทธรูปถูกพอกปูนใหม่ดูไม่สวยงาม แบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ตรงกลางถ้ำประดิษฐานรูปปูนปั้นพระอาจารย์ทองเฒ่า หรือพระอาจารย์ทอง อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ สองข้างซ้ายขวามีพระพุทธรูปไม้จำหลักปางมารวิชัย 2 องค์ ฝีมือพื้นบ้านสมัยรัตนโกสินทร์      สมัยโบราณการประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ของวัดเขาอ้อ มักนิยมทำกันภายในถ้ำนี้ เพราะถือว่าเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น การปลุกเสกพระ เครื่องรางของขลัง เช่นเดียวกับ การนิยมปลุกเสกพระเครื่องรางของขลัง ภายในอุโบสถที่เรียกว่า มหาอุด คืออุโบสถที่มีประตูทางเข้า 1 ประตู ด้านหลังอุดตัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้เครื่องรางของขลังศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น เป็นคติที่ปฏิบัติต่อกันมาจนปัจจุบัน
     ถ้ำฉัททันต์นอกจากจะเป็นถ้ำที่มีความสำคัญทางไสยศาสตร์แล้ว ยังมีความสำคัญทางด้านศิลปะ โบราณคดี เนื่องจากได้มีการค้นพบ พระพุทธรูปบูชาขนาดเล็กภายในถ้ำพระ โพรงหินหน้าถ้ำจำนวนหลายองค์ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยเงิน และ เงินยวง เท่าที่ค้นพบแล้วมี 2 ปาง คือ ปางเปิดโลกและปางมารวิชัย ปางเปิดโลกชาวบ้าน เรียกว่า " พระทิ้งดิ่ง " ส่วนใหญ่เป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน ลักษณะไม่ค่อยสวยงาม มีอายุราวสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นอย่างสูง

อ้างอิง : หนังสือ " วัดดอนศาลา " โดย ธีระทัศน์ ยิ่งดำนุ่น จำเริญ เขมานุวงศ์ พ.ศ.2532

Powered by www.Muanglung.com