เวปไซต์ พระเครื่องเมืองลุง โดย บก.หนูนุ้ย เมืองลุง moradokthai@hotmail.com โทร.081-8544472

หลวงพ่อกลั่น วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง

ชาติกำเนิด
     เด็กชายกลั่น แก้วรักษา ได้ถือกำเนิดมาจากตระกูลชาวนา เมื่อวันอาทิตย์ แรม 2 ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู ตรงกับ วันที่ 14 ธันวาคม พุทธศักราช 2456 ณ บ้านใสคำ ตำบลโตนดด้วน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง บิดาชื่อ นายตุด แก้วรักษา และ มารดาชื่อ นางจันทร์ แก้วรักษา เด็กชายกลั่นมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน จำนวน 3 คน คือ
     1.นางกลิ่น แก้วรักษา (สถาพร)
     2.นายกลั่น แก้วรักษา
     3.นางขลิบ แก้วรักษา

ชีวิตวัยเด็ก
     เด็กชายกลั่น เป็นเด็กที่ค่อนข้างซุกซน แต่มีแววแห่งความฉลาดปราดเปรียว เด็กชายกลั่นได้เริ่มเข้าเรียน โรงเรียนประชาบาล ตำบลละอาย อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ.2462 และ เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2467 หลังจากนั้นก็ได้ออกไปช่วยเหลืองานบิดามารดาในการทำไร่นา เมื่ออายุเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม เด็กชายกลั่นก็ได้มีโอกาสได้ศึกษาโลกภายนอกกว้างขวางยิ่งขึ้น และได้เริ่มออกจากบ้าน เพื่อแสวงหาโชคลาภอย่างเช่นเด็กหนุ่มโดยทั่วๆไป
     ถึงแม้ว่าเด็กชายกลั่นจะเริ่มเป็นหนุ่มกลับกลายเป็นนายกลั่นเพราะเหตุด้วยอายุเกิน 15 ปี บิดามารดาพิจารณาเห็นว่าสมควรที่จะให้นายกลั่นได้ศึกษาธรรมวินัย เพื่อจะได้เป็นบุคคลที่มีคุณธรรมโดยสมบูรณ์ ซึ่งก็เป็นความปรารถนาของบิดามารดาสมัยก่อน ดังนั้น นายกลั่นก็ได้เข้าสู่เพศบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 17 ปีเต็ม ณ วัดสวนขัน ตำบลละอาย อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ.2473 โดยมีพระอาจารย์สังข์วัดทุ่งไหม้เป็นพระอุปัชฌาย์ สามเณรกลั่นได้ใช้ชีวิตบรรพชาอยู่ที่แห่งนี้ได้ถึง 4 พรรษา ซึ่งก็นับว่ามากพอครบเทอมอย่างเช่นนักการเมืองนั่นแหละ… ปลายปีที่ 4 แห่งชีวิตบรรพชา สามเณรกลั่นก็ได้ตัดสินใจลาสิกขาบทออกไปใช้ชีวิตทางโลกอีก คงจะคิดว่าทางโลกนั้นมีหนทางที่จะเดินไปสู่ความก้าวหน้าของชีวิตได้ดีกว่า

ชีวิตคู่
     หนุ่มวัยฉกรรจ์กลั่น แก้วรักษา ก็ยังมีความปรารถนาที่จะมีชีวิตคู่เฉกเช่นหนุ่มสาวโดยทั่วไป หนุ่มกลั่นได้พิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วนโดยตนเอง และการเชื่อฟังบิดามารดาในการเลือกคู่ครอง หนุ่มกลั่นจึงตัดสินใจแต่งงานกับหญิงสาวนามว่า กุหลาบ ทองพันธุ์ บุตรของผู้ใหญ่เปลี่ยน ทองพันธุ์ และ นางพลับ ทองพันธุ์ ซึ่งอยู่บ้านห่างกันคนละฝากถนนรถไฟ มีอาชีพในการทำนาเช่นกัน เมื่ออายุได้ 21 ปี นายกลั่น ได้ใช้ชีวิตการครองเรือน มีบุตรและธิดาทั้งหมด 6 คน คือ
     1.นางหนูผอง แก้วรักษา แต่งงานกับ นายประสิทธิ์ ชูศรี
     2.นางละออง แก้วรักษา แต่งงานกับ นายคลี่ เรืองศรี
     3.นายธานี แก้วรักษา แต่งงานกับ นางฉาย แก้วรักษา
     4.นางบุญคุ้ม แก้วรักษา แต่งงานกับ นายอรุณ กลับแก้ว
     5.นายถาวร แก้วรักษา แต่งงานกับ นางละม่อม ไหมพุ่ม
     6.นางรัตนา แก้วรักษา แต่งงานกับ นายสำราญ แปงสาย
     เมื่อชีวิตครองเรือนของนายกลั่น ตั้งแต่แต่งงาน มีบุตรธิดา นายกลั่นได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมสมาชิกภายในครอบครัว อบรมสั่งสอนบุตรธิดา เหมือนบิดามารดาโดยทั่วไป จนกระทั่งอายุ 58 ปี นายกลั่น เห็นว่าบุตรธิดาเติบใหญ่พอที่จะช่วยเหลือตนเองได้แล้ว จึงได้ตัดสินใจเข้าสู่เพศบรรพชิตอีกครั้ง เมื่อวันจันทร์ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน ตรงกับ วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2514 ณ วัดบ้านสวน ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยมีท่านพระครูพิพัฒน์ศิริธร (หลวงพ่อคง) เจ้าอาวาสวัดบ้านสวนเป็นพระอุปัชฌาย์

สมณเพศจากอดีตสู่ปัจจุบัน
     เมื่อ พระกลั่น อคฺคธมฺโม ถือเพศเป็นสมณแล้ว ก็ได้กลับไปอยู่ ณ วัดเขาอ้อ และได้ศึกษาธรรมวินัยไปด้วยควบคู่กับการศึกษาเรื่องไสยศาสตร์ เพราะวัดเขาอ้อเป็นวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องเครื่องรางของขลัง โดยสมัยนั้นท่านพระอาจารย์ปาน ปาลธมฺโม เป็นเจ้าอาวาส และเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงสืบทอดต่อมาจากท่านพระอาจารย์ทองเฒ่า

     ภายหลังจากที่ท่านพระอาจารย์ปาน ปาลธมฺโม ได้มีสุขภาพร่างกายไม่ค่อยจะสมบูรณ์มากนัก และได้ไปจำพรรษาที่วัดดอนศาลาชั่วคราว ใน พ.ศ.2518 พระกลั่น ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ และหนึ่งปีให้หลัง คือ พ.ศ.2519 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ ต่อจากนั้นเรื่อยมาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระใบฎีกากลั่น ซึ่งก็เป็นพระฐานานุกรมรูปหนึ่ง ในทำเนียบพระสังฆาธิการ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง จนกระทั่งได้เป็น ท่านพระครูอดุลธรรมกิตติ์ ใน ปี พ.ศ.2536

อ้างอิง : สมคิด คงขาว ศิริพงศ์ ยูงทอง หนังสือ ที่ระลึก งานฉลองสัญญาบัตรพัดยศ พระครูอดุลธรรมกิตติ์ 18-19 กุมภาพันธ์ 2536

Powered by www.Muanglung.com