เวปไซต์ พระเครื่องเมืองลุง โดย บก.หนูนุ้ย เมืองลุง moradokthai@hotmail.com โทร.081-8544472

 ชุมโจรบ้านดอนทราย

รุ่งดอนทรายและดำหัวแพร
    ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมุงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวในท้องที่ตำบลดอนทราย อำเภอทะเลน้อย (คืออำเภอควนขนุนปัจจุบัน) เมืองพัทลุงได้เกิดชุมโจรขนาดใหญ่ขึ้นคณะหนึ่งมี รุ่ง ดอนทราย เป็นหัวหน้า ดำหัวแพรเป็นรองหัวหน้า (เมื่อรุ่งดอนทรายสิ้นชีวิตแล้ว ดำหัวแพรได้เป็นหัวหน้าสืบต่อมา) มีคนเกเรและนักเลงหัวไม้จากท้องถิ่นใกล้เคียง และจากหัวเมืองตรัง เมืองนครศรีธรรมราช มาเข้าด้วยเป็นอันมาก โจรกลุ่มนี้ได้ประกาศไม่ให้ชาวบ้านติดต่อกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง รวมทั้งห้ามเสียเงินรัชชูปการ รวมไปถึงภาษีอื่นๆอีกด้วย สร้างความหนักใจให้แก่เจ้าหน้าที่ปกครองเป็นอันมาก

ประวัติการจัดตั้งชุมโจร
    ลักษณะความเป็นอยู่ของคนไทยแต่ก่อนนั้น มีลักษณะต้องพึ่งและให้ความคุ้มครองแก่ตนเอง การปฏิบัติตนเป็นนักเลงหัวไม้จึงเป็นเรื่องธรรมดาของคนในสังคม ดังที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) กราบทูลพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ใน "จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128" ว่า "เจ้าคุณรัษฎาเล่าว่า เมื่อแรกๆท่านมาเป็นหัวเมืองตรัง นี้เป็นธรรมเนียมผู้ชายไปขอลูกสาว ฝ่ายบิดามารดาถามก่อนสองข้อคือรำมโนห์ราเป็นหรือไม่ กับขโมยควายเป็นหรือไม่ ถ้าไม่เป็นทั้งสองอย่าง ไม่ยอมยกลูกสาวให้ เพราะบิดามารดาของผู้หญิงแลไม่เห็นว่า จะเลี้ยงเมียได้อย่างไร" ท้องที่ใดมีคนเกเรมากราษฎรเดือดร้อนทางการบ้านเมืองจึงจะยื่นมือ เข้าไปจัดการเป็นคราวๆ ไป การปราบปรามนั้นเจ้าหน้าที่อาจดำเนินการเองโดยตรง หรือไม่ก็ใช้วิธีให้โจรปราบโจรกันเอง ซึ่งทำให้มีปัญหาติดตามมาอีกมากมาย เช่น มีการแก้แค้น ฆ่าฟันสืบสายสกุล ชาวบ้านไม่ไว้วางใจข้าราชการจนเกิดอคติต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ดังที่ชาวบ้านสั่งสอนลูกหลานว่า "นายรักเหมือนเสือกอด หนีรอดเหมือนเสือหา" เป็นต้น
    กรณีการเกิดชุมโจรที่ตำบลดอนทราย เมืองพัทลุง จนมีผู้ตั้งตัวเป็นหัวหน้า ก็มีสาเหตุมาจากการใช้วิธีโจรปราบโจรของฝ่ายบ้านเมืองนี้เอง เริ่มต้นจากนายอำเภอทะเลน้อยได้ติดต่อกำนันตำบลดอนทราย (ชื่อสี คนทั่วไปเรียกสีสงคราม) ให้หาทางจับผู้ร้ายในท้องที่ส่งดำเนินคดี โดยแนะให้ติดสินบนต่อคนร้าย ว่าจะไม่เอาผิดบ้างจะตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้าง หากสามารถจับเป็นเพื่อนผู้ร้ายด้วยกันส่งกำนัน ผลของการปราบโจรโดยวิธีนี้ทำให้โจรแตกแยกและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และมีการรวมตัวกันเป็นหมู่เป็นเหล่ามากยิ่งขึ้น การดำเนินการจับกุม รุ่งดอนทราย นั้น กำนันได้ติดต่อผู้ใหญ่อินบ้านโคกวัดซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของรุ่งดอนทราย เพราะทราบว่าผู้ใหญ่อิน ติดต่อส่งเสบียงให้แก่รุ่งดอนทรายอยู่เป็นประจำ
    วันที่จับกุมรุ่งดอนทรายได้นั้น ผู้ใหญ่อินได้นัดให้รุ่งดอนทรายมารับข้าวห่อที่ใกล้บ้านในสวน (หมู่ที่ 3 ตำบลควนขนุน แต่เดิมขึ้นกับตำบลชะมวง) และได้จัดพรรคพวกที่ล่ำสันแข็งแรงคือ นายเอียด นายช่อ นายไข่ดือ ร่วมไปด้วย ขณะรุ่งดอนทรายและน้องชายชื่อแจ้งกำลังนั่งรับประทานข้าวห่อ นายเอียดได้ใช้ขวานตีหัวรุ่งดอนทรายล้มลง นายไข่ดือขึ้นคร่อมมัดมือไว้ ขณะเดียวกันนายช่อก็ตีหัวเข่านายแจ้ง ผู้ใหญ่อินเข้าช่วยจับจึงสามารถส่งตัวให้กำนันได้ทั้งสองคน ผลของการดำเนินคดี (คดีปล้นทรัพย์) นายรุ่งและนายแจ้งได้ให้การซัดทอดถึงนายช่อด้วยเป็นเหตุให้ทั้งสามคนต้องติดคุก และทางการส่งไปจำไว้ ณ เรือนจำมณฑลนครศรีธรรมราช
    ขณะติดคุก รุ่งดอนทรายได้ติดต่อให้ญาติจัดยาพิษไปให้และได้ลอบวางไว้ในอาหาร ทำให้นายช่อและนายแจ้งน้องชายต้องเสียชีวิตในคุกนั่นเอง หลังจากนั้น จึงได้วางแผนกับเพื่อนนักโทษชื่อนายสัง หนีจากคุกได้สำเร็จ กลับมาถึงบ้านก็ตรงไปฆ่ากำนันสีสงครามตายอย่างอุกอาจ และประกาศตอนเป็นหัวหน้า ทำให้โจรก๊กเล็กก๊กน้อยมาร่วมด้วยทั้งหมด บรรดาลูกสมุนเรียกรุ่งดอนทรายว่า ท่านขุนพัท ส่วนคนทั่วไปเรียกว่ารุ่งขุนพัทตั้งแต่นั้นมา และลูกน้องใกล้ชิดอีกหลายคนก็ตั้งตัวเป็นขุนกัน ดังนี้

ขุนอัสดงไพรวัน คือ ดำหัวแพร เป็นรองหัวหน้า
ขุนอรัญไพรี คือ ดำปากคลอง
ขุนประจบดำแพรศรี คือ นายวันพาชี บ้านม่วงลูกดำ ตำบลนาท่อม
ขุนคเนศวร์พยอมหาญ
คือ ดำบ้านพร้าว

เรื่องการตั้งตัวเป็นขุนนี้ มีรายละเอียดและข้อสังเกตดังนี้
    1.รุ่งขุนพัท มีคำบอกกล่าวเป็นสองทาง ทางหนึ่งว่าเมื่อไปถึงเรือนจำนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองขณะนั้นมาดูตัวและทักว่า "นี่หรือขุนโจนพัทลุง" เพื่อนคนโทษจึงเรียกกันขึ้นก่อนว่ารุ่งขุนพัท (ลุง) อีกทางหนึ่งเล่ากันว่า เมื่อรุ่งดอนทรายหนีจากคุกได้สำเร็จ ท่านขุนที่เป็นพัสดีเรือนจำถูกปลดออกจากราชการ คนจึงพูดกันว่า เอาบรรดาศักดิ์ขุนไปมอบให้รุ่งดอนทรายเสียแล้ว รุ่งดอนทรายจึงได้ชื่อแทนขุนพัสดีเรือนจำ เรียกกันสั้นๆวา "ขุนพัท"
    2.นามขุนของดำหัวแพรมักจะสับสนกับนามขุนของวันพาชี เป็นขุนอัสดงแพรศรี กับขุนประจบไพรวัน ดังข้อเขียนของ อเนก นาวิกมูล (ดู เดินทางท่องเที่ยว ฉบับ มีนาคม 2532 หน้า 74-79) ที่ระบุไว้ข้างต้นนั้นได้สอบสวนจากผู้ใกล้ชิดดำหัวแพรที่ยังมีชีวิตอยู่ (นายสี ที่มีกลอนเพลงกล่าวถึงว่า "อ้ายสุกอ้ายสี หมันหนีมาออกตัดสินขังคอก ให้ตลอดชีวัน") และชาวบ้านที่ตำบลควนขนุนอีกหลายคน ซึ่งเป็นข้อมูลทีเชื่อถือได้
    3.ขุนพเนศพยอมหาญ เข้าใจว่าจะตั้งเลียนจากบรรดาศักดิ์ ประทานกำนันตำบลป่าพยอม ที่เป็น "ขุนคเนศวร์พยอมวัน" (ต้นสกุล คชภักดี)
    4.เรื่องราวเกี่ยวกับโจรกลุ่มนี้ มีผู้แต่งเป็นกลอนไว้ยืดยาวหลายราย ปัจจุบันยังมีผู้จำกันไว้ได้บ้าง เช่น

" จะกลับจะกล่าว เรื่องราวโจรร้าย นายรุ่งดอนทราย หัวไม้ตัวลือ
พวกพ้องของมัน ชวนกันนับถือ หัวไม้ตัวลือ ชื่อว่าขุนพัท
พวกพ้องของมัน นั้นอยู่แออัด ถัดแต่ขุนพัท นายดำหัวแพร
ถัดแต่นั้นแล้ ที่สามนายแก้ว นายวันพาชี เป็นที่คล่องแคล่ว
ถัดแต่นายแก้ว นายกสองยก นายแดงราชสีห์ ผมนี้ไม่หก
นายรุ่งตกจก เป็นก๊กเดียวกัน"
(ไม่ทราบผู้แต่ง นายทุ่น เขมานุวงศ์ บ้านโคกวา อายุ 61 ปี จำไว้ได้)

    อีกสำนวนหนึ่ง มีผู้จำไว้ว่า ผู้แต่งคือ นายแก้ว บัวขาว หรือ แก้วเหงือก แต่งไว้ และได้มอบไว้กับคุณพระวิชัยประชาบาล มีคนเคยเห็นต้นฉบับ แต่บัดนี้ยังตามไม่พบ มีผู้จำตอนขึ้นได้ ดังนี้
"จะแถลงแจ้งเรื่องในเมืองลุง
มีนายรุ่งดอนทรายหัวไม้ใหญ่
ประพฤติแต่การชั่วไม่กลัวใคร
ทั้งกำนันผู้ใหญ่ไม่นำพา
มันยกตัวเป็นใหญ่อยู่ในที่
ถือว่ามีอำนาจวาสนา
เที่ยวดุร้ายลำพองของวัดวา
ชาวประชาราษฎร์พาให้ร้อนใจ"

    นายสี ได้ให้รายละเอียดของโจรที่มีชื่อในกลอนข้างต้นนี้
    นายวัดพาชี อยู่บ้านม่วงลูกดำ ตำบลนาท่อม เรียกกันเช่นนั้น เพราะหนีคดีลักม้ามาอยู่กับดำหัวแพร ตั้งตัวเป็นขุนประจบดำหัวแพรศรี
    นายยก มี 2 คน คือ นายยกบ้านตากแดด กับ นายยกบ้านคอกควาย (หรือเรียกอีกชื่อว่า ยกหมูก เพราะมีจมูกโต) ทั้ง 2 คนนี้เป็นเพื่อนกับคล้ายแพรกหา คล้ายแพรกหาต้องคดีฆ่าคนตาย (คือฟันคนที่มาฉุดน้องเมียตาย) ต่อมาทางการติดสินบนว่าจะไม่เอาผิด และจะตังให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน หากสามารถจับเป็นหรือจับตายนายยกทั้ง 2 คน นายคล้ายจึงได้ฟันยกหมูกตายก่อน แล้วไปยิงยกตากแดดที่บ้านห้วยขรี ทางการได้ตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาได้เป็นกำนันตำบลแพรกหา
    นอกจากที่มีชื่อในกลอนนั้นแล้ว ยังมีที่ห้าวหาญอีกหลายคน เช่น ขำลาวเป็นคนอีสาน มีรอยสักทั้งตัว ไม่ทราบว่ามาจากไหน ชูฟันทอง เป็นคนเมืองตรัง สีเงินหนวดแดง ขึ้ครั่งชายหาน คงเขาย่า สงคลองใหญ่ ฯลฯ เป็นต้น

ตั้งเป็นชุมโจรสมบูรณ์แบบ
    เมื่อรุ่งดอนทรายประกาศตัวเป็นหัวหน้าแล้ว ก็ได้จัดทำปลอกเงินเป็นอาวุธประจำตัวหัวหน้า การสั่งการใดๆ หากสั่งด้วยตัวเองไม่ได้ก็จะมอบปืนไปแทนตัว ใครจะอ้างคำสั่งถ้าไม่มีปืนแสดงก็ไม่ต้องเชื่อถือ นอกจากนั้นก็ประกาศไม่ให้ชาวบ้านติดต่อกับเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นทางใด เพราะพวกพ้องของตนจะให้ความคุ้มครองแทน นอกจากนั้นไม่ว่าจะไปปล้น ณ ท้องที่ใดให้ปฏิบัติเคร่งครัด ดังนี้
    1.หากเจ้าทรัพย์ไม่ต่อสู้ ห้ามทำร้าย
    2.ทรัพย์สินเครื่องใช้และเครื่องแต่งตัวที่อยู่ตัดตัว จะไม่ถือเอา จะเอาเฉพาะของเก็บเท่านั้น
    3.หากเคยไปพักพิง หลบแดดหลบฝนที่บ้านใด จะให้ความคุ้มครองบ้านนั้น ใครจะรังแกไม่ได้
    การให้ความคุ้มครองนั้น โจรคณะนี้ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงสามารถเพิ่มจำนวนพรรคพวกได้มาก อาจารย์เปลื้อง ณ นคร เล่าว่า บิดาท่านเคยเล่าให้ฟังว่า โจรคณะนี้เก่งกล้าถึงขนาดท้ายิงกับเจ้าหน้าที่ การต่อสู้ถึงขนาดขุดสนามเพลาะสู้กัน
เรื่องการคุ้มครองคนที่เคยไปพักพิงก็เป็นเรื่องจริงที่ปฏิบัติจริง นายแก้ว บุญทองคง อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลควนขนุน (ลูกชายผู้ใหญ่อิน) เล่าว่า นำหนองฟ้าผ่า ซึ่งเป็นคนดุร้ายคนหนึ่งได้ไปลักควายในเขตเมืองนครศรีฯ เจ้าของควายซึ่งเคยให้ที่พักโจรก๊กนี้ได้มาหาดำหัวแพร ดำหัวแพรจึงมอบปืนปลอกเงินไปแทนตัวบอกขอควายคืน นำหนองฟ้าผ่าก็คืนควายให้ เป็นต้น
    ในส่วนทางการบ้านเมือง เมื่อกำนันสีสงครามถูกฆ่าตายแล้วก็ได้ตั้ง นายคลิ้ง ญาติใกล้ชิดของรุ่งดอนทรายเป็นกำนันแทน แรกๆ ก็นับถือกันอยู่โดยดี แต่ต่อมากำนันคลิ้งได้ให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่มากขึ้น จนคราวหนึ่งกำนันสืบทราบว่า รุ่งดอนทรายจะนำพวกไปปล้นที่กะปาง เขตเมืองตรัง จึงนำความไปบอกเจ้าหน้าที่ นายอำเภอทะเลน้อยขณะนั้น (ขุนสถลสถานพิทักษ์ ไม่ทราบชื่อตัวและสกุล) ได้จัดตำรวจไปดักซุ่มที่ช่องอ้ายหมี ซึ่งเป็นทางแคบ เมื่อคณะรุ่งดอนทรายเดินทางไปใกล้ มีค้างคาวบินมาชนหน้ารุ่งดอนทราย และทั้งได้กลิ่นบุหรี่ซิกาเร็ตรุ่งดอนทรายจึงเดินทางกลับบ้าน สืบรู้ว่ากำนันคบคิดกับทางอำเภอไปดักซุ่ม จึงนำพวกไปฆ่ากำนันคลิ้งตาย น้องชายของกำนันคลิ้งต้องหนีไปอยู่ประจำที่โรงพักอำเภอทะเลน้อย

รุ่งดอนทรายเสียชีวิต
    หลังจากฆ่ากำนันคลิ้งแล้วไม่นาน รุ่งดอนทรายป่วยเป็นฝีบัวคว่ำบัวหงายขนาดใหญ่ รู้ตัวว่าจะตายไม่เกิน 2 วัน บอกกับพวกพ้องว่าจะขอตายที่บ้าน ลูกน้องจึงได้ช่วยกันพยุงมาจนถึงในตอนเย็น นางขีดหรือหนูขีดลูกสาวกำนันคลิ้งเห็นเข้าจึงเดินทางไปหาอา (ชื่อชำ) ที่โรงพักอำเภอทะเลน้อย ในคืนวันนั้นขุนสกลฯ นายอำเภอพร้อมตำรวจจึงรีบยกกำลังมาล้อมบ้านในตอนเช้าตรู่ มีนายช้ำและนายยกบ้านยางแคเป็นคนนำทาง
    นายสีเล่าว่า มีคนนอนอยู่บนบ้าน 4 คน คือ รุ่งดอนทราย นางหิ้น ภรรยา นายทุ่ม ควนเนียด และนายสี เมื่อรู้ตัวว่าถูกเจ้าหน้าที่ล้อม นายสีจึงพลิกตัวลอดร่องแมวหนีไปได้ นายรุ่งดอนทราย และนายทุ่มตายคาที่ นางหิ้นถูกปืนที่แขน
    เจ้าหน้าที่ได้ให้นำศพรุ่งดอนทรายไปมัดประจานไว้กับต้นตาลหน้าวัดกุฏิ (คือวัดสุวรรณวิชัยเดี๋ยวนี้)
    มีผู้จำกลอนตอนรุ่งดอนทรายตายได้ดังนี้
"ท่านขุนสถลนายอำเภอ ถือเมาเซอเบรานิ่งวิ่งตะบึง
ปีโทศกหกสิบสองต้องถึงตาย เพราะเคราะห์ร้ายราหูจู่มาถึง"
และ
"ทั้งลูกเมียเสียใจพิไรร้อง เหมือนโพธิ์ทองเคยสำนักมาหักลง
ดำหัวแพรแก้ไขไปตามตรง ว่าฉันคงตั้งหน้าฆ่านกต่อ"
(นายแก้ว บ้วขาว แต่ง)
ซึ่งเป็นหลักฐานว่า ปีที่รุ่งดอนทรายเสียชีวิตนั้นคือ พ.ศ.2462

ชุมโจรสมัยดำหัวแพรเป็นหัวหน้า
    เมื่อรุ่งดอนทรายเสียชีวิตแล้ว ดำหัวแพรได้เป็นหัวหน้าชุมโจร ต่อมาสิ่งแรกที่ดำหัวแพรกระทำเพื่อให้เป็นที่เกรงขามก็คือกำจัดหรือตามล่าผู้มีส่วนในการนำเจ้าหน้าที่มาล้อมยิงรุ่งดอนทราย ได้แก่ นายช้ำน้องชายของกำนันคลิ้งและนายยกบ้านยางแค (สำหรับนางขีดลูกสาวกำนันคลิ้งที่เดินทางไปบอกเจ้าหน้าที่ในคือวันเกิดเหตุนั้น ดำหัวแพรมิได้แก้แค้นเพราะรักษาสัจจะเรื่องไม่ทำร้ายผู้หญิงและเด็ก)
    นายช้ำนั้นได้อยู่กับเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา โดยไปพักอยู่ที่โรงพักทะเลน้อย ดำหัวแพรจึงนำพวกพ้องตรงไปยังบ้านยางแค ในวันที่นายยกมีงานที่บ้าน (ผู้เล่าจำไม่ได้ว่างานอะไร แต่เป็นงานแน่) มีญาติมิตรมาชุมนุมอยู่มาก มีผู้จำกลอนของนายแก้วบัวขาวได้ว่า
"พาพวกไปยางแคแต่กลางวัน
ยิงนายยกพลัดตกลงกับที่ อ้ายปากดีฆ่าให้ตายอย่าไว้หมัน
เอาลืมงอเชียดคอเสียเร็วพลัน คนทั้งนั้นสากลัวไปทั่วเมือง"
    การฆ่านายยกยางแคอย่างอุกอาจในครั้งนั้น จึงไม่มีชาวบ้านคนใดติดต่อกับเจ้าหน้าที่อีกเลย เจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าไปติดตาม พวกคนร้ายกำเริบกล้าถึงขนาดท้าต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ จนกล่าวกันว่าดำหัวแพรสามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
    ต่อมาในราวต้นปี พ.ศ.2463 พวกโจรทราบว่านายกลับ เรืองมา ชาวบ้านหนองปลาไหล ได้ต้อนรับเจ้าหน้าที่โดยให้รับประทานอาหารที่บ้าน ดำหัวแพรจึงนำพวกพ้องไปยังบ้านนายกลับ แต่เป็นเวลาที่นายกลับไม่อยู่บ้าน จึงได้ทำลายข้าวของ เช่น ทุบไหน้ำผึ้ง (น้ำตาลเหลว) และทุบตีคนในบ้านหวังจะให้เข็ดหลาย
    เรื่องการไปบุกบ้านนายกลับ เรืองมานี้ มีข้อเขียนกล่าวถึงพวกโจรได้ฆ่าแม่และลูกเมียของนายกลับหมด รวมถึงให้เผาบ้านเสียด้วย (ดู อเนก นาวิกมูล เดินทางท่องเที่ยว มีนาคม 3523 หน้า 75) ผู้เขียนได้พยายามสอบถามคนที่เกี่ยวข้องและรู้เรื่องนี้พอสมควร สรุปว่า ไม่มีการฆ่าแม้แต่คนเดียว การเผาบ้านก็เผาเฉพาะเรือนข้าวซึ่งอยู่ห่างจากตัวบ้านที่พักอาศัย ผู้เขียนยังได้เคยรู้จักลูกชายของนายกลับคนหนึ่งมีอาชีพรับราชการครูชื่อกลั่น ลูกชายของครูกลั่นก็เป็นนักเรียนร่วมชั้นกับผู้เขียนยิ่งการกล่าวถึงการฆ่า แม่ เมีย ด้วยแล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะดำหัวแพรมีสัจจะเรื่องไม่ฆ่าผู้หญิงและเด็กดังที่เคยกล่าวมาแล้ว
    การไปบุกบ้านของนายกลับ เรืองมา นี้เองที่นำไปสู่จุดจบของดำหัวแพร นายกลับ เรืองมา ได้เดินทางไปยังจังหวัดสงขลา ถวายฎีกาความเดือดร้อนต่อองค์อุปราชปักษ์ใต้ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมฯ หลวงลพบุรีราเมศวร์ องค์อุปราชจึงทรงสั่งการให้นายพันตำรวจโท พระยาวิชัยประชาบาล (บุญโกย เอโกบล) ผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ดำเนินการปราบปรามโจรคณะนี้ให้ราบคาบ

การดำเนินการปราบปราม
    คุณพระวิชัยประชาบาล ได้ดำเนินการปราบปรามด้วยตนเอง คือ นำกำลังตำรวจของมณฑลไปตั้งกองอำนวยการปราบ 3 แห่ง ที่ตำบลนาท่อม ตำบลควนขนุนและตำบลปันแต และอาศัยกำลังตำรวจประจำท้องที่ให้ช่วยนำทาง การไปจัดตั้งกองปราบที่ควนขนุนนั้น เป็นเวลาประจวบกับพวกโจรกำลังชักชวนกันทำบุญกองทรายที่วัดกุฏิ แต่ยังไม่ได้จัดงานฉลอง
    วัดกุฏิขณะนั้นมีพระนุ้ย สหสสฺเตโช เป็นอธิการเจ้าอาวาส เป็นภิกษุที่ชาวบ้านนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ เชี่ยวชาญด้านคาถาอาคม ศิษย์ของท่านที่ยังมีชีวิตอยู่เล่าว่า ท่านมีวัตรปฏิบัติที่แปลกอยู่หลายอย่าง เช่น วันไหนท่านนั่งอยู่ตรงไหน หันหน้าไปทางทิศไหนแล้วท่านจะนั่งอยู่อย่างนั้นตลอดวัน ศิษย์ต้องจัดเพลให้ท่านฉัน ณ ที่ที่ท่านนั่ง เป็นต้น และอีกอย่างหนึ่งท่านชอบฉันหวาก (กระแช่) เมื่อคุณพระวิชัยฯ ไปตั้งกองในวัด คุณพระไม่ยอมไปพบท่าน ท่านไม่พอใจจึงเข้าจำวัดคลุมโปงไม่ฉันอาหาร 3 วัน เป็นต้นเหตุให้คุณพระปวดท้องอย่างแรง กินยาแก้ไขอย่างไรก็ไม่หาย จนตำรวจคนหนึ่งบอกว่าถูกคุณท่านเข้าแล้ว คุณพระจึงจุดธูปขอขมาช่วยให้หายปวดท้อง จะทำขนมโค (ขนมต้มขาว) ถวาย ปรากฏว่าคุณพระหายปวดท้องเป็นปลิดทิ้ง
    เมื่อคุณพระไปหา ท่านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี คุณพระวิชัยฯ รับจะช่วยทำนุบำรุงวัด และได้นำพระพุทธรูปสำริดไปถวาย 1 องค์ มีจารึกบนแผ่นโลหะตรึงไว้ที่ฐานว่า "พระพุทธวิชัย พ.ศ.2463" พระพุทธรูปองค์ที่กล่าวนี้เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน สูงจากฐานถึงเกศประมาณ 24 นิ้ว มีผู้เล่าว่าได้ยินคุณพระวิชัยฯ เล่าถวายท่านนุ้ยว่า คุณพระได้พระองค์นี้มาในคราวไปปราบปรามโจรที่ภาคเหนือ เมื่อตอนพบมีต้นไทรขึ้นโอบองค์ไว้ ท่านจึงให้ตัดต้นไทรออก และอัญเชิญมาและเพื่อให้เป็นนิมิตที่พระพุทธรูปองค์นี้ จะได้อยู่เป็นศรีประจำวัดต่อไป คุณพระได้หารือท่านอธิการนุ้ยให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ เป็นวัดสุวรรณวิชัย เข้าใจว่าชื่อวัดที่เปลี่ยนใหม่นี้ คำสุวรรณ คงแปลงจากชื่อเจ้าอาวาสองค์แรกที่ชื่อทอง ส่วนวิชัย คงตัดจากชื่อพระพุทธรูป และยังเป็นนามต้นบรรดาศักดิ์ของพระวิชัยประชาบาลเองอีกด้วย (นามเจ้าอาวาสวัดกุฏิ ตั้งแต่เริ่มตั้งจนถึงพระอธิการนุ้ย ดังนี้ 1.พระทอง ไม่ทราบปีครองวัด 2.พระคล้าย ติสสโร มรณภาพ พ.ศ.2436 3.พระอธิการนุ้ย สหสสุเตโช พ.ศ.2436-2467)

     เมื่อตั้งกองและเตรียมการเรียบร้อยแล้ว คุณพระได้ดำเนินการดังนี้
    1.ประกาศให้คนร้ายเข้ามอบตัว จะดำเนินคดีดด้วยความยุติธรรม ที่กระทำผิดเล็กน้อยก็อบรมตักเตือนและให้เป็นพรานดง ทำหน้าที่สืบข่าว
    2.นำพ่อแม่ เมีย หรือญาติที่คนร้ายนับถือ มาเกลี้ยกล่อม กักตัว ต่อรองให้เข้ามอบตัว
    3.ประกาศห้ามชาวบ้านช่วยเหลือคนร้าย ผู้ใดจะจัดข้าวห่อไปกินขณะทำงานก็ให้จัดไปเฉพาะพอกินเอง หากจับได้ว่าจัดไปมากเกินสมควรจะถูกลงโทษ
    4.ดำเนินการจับกุมอย่างแข็งขัน ทั้งจับเป็นและจับตาย

    ในการเข้ามอบตัวนั้น คนร้ายมักให้ญาติมิตรติดต่อกับพระอธิการนุ้ย กำหนดวันและสถานที่ไว้แน่นอน พระอธิการนุ้ยจะบอกกล่าวตรงกับคุณพระวิชัยฯ จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปรับตัวตามนัดหมาย เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยไม่ทราบเรื่อง จึงเล่าลือกันว่าคุณพระฯมีตาทิพย์และมีวาจาสิทธิ์ เป็นเหตุให้ผู้ร้ายที่ลังเลอยู่เข้ามอบตัวมากยิ่งขึ้น
    ผู้ที่เข้ามอบตัวจะถูกจำขังไว้ที่ค่ายของกองอำนวยการชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงส่งตัวไปดำเนินคดี ณ ภูมิลำเนาเดิม มีผู้ผูกเป็นเพลงและมีคนจำไว้ได้บ้าง เช่น "โหมลุงส่งลุง โหมคอนส่งคอน โหมตรังส่งตรัง โหมที่ไม่ขังให้เป็นพรานดง" หรือ "วัดกุฏิแข็งแรงกำแพงใบโหนด เหลือแต่ทำโทษ โพกหัวแบกบอง"
    ช่วงที่เข้ามามอบตัวมากที่สุดที่กองควนขนุนนั้นปรากฏว่ามีถึง 65 คน คุณพระจึงให้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน
   เมื่อพวกพ้องเข้ามอบตัวกันมากแล้ว ขวัญของโจรก็เริ่มเสีย ที่เคยคุมพวกต่อสู้เจ้าหน้าที่ก็กลายเป็นต้องหลบหนี แต่กระนั้นก็ได้ต่อสู้อย่างห้าวหาญหลายครั้ง เช่น คราวจับตายโจรที่ชื่อ สีเงินหนวดแดง ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 คน (ไม่ทราบชื่อ) สมุนคนสุดท้ายที่ถูกจับตายคือ คงเขาย่า (มีบทเพลงกล่าวถึงว่า "อ้ายคง เขาย่า ที่เป็นสหายถูกลูกกระสุนตายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์")

ขุนโจรสิ้นชื่อ
    ในที่สุดสายสืบรายงานเจ้าหน้าที่ว่า ดำหัวแพรกับพวกรวม 3 คน มากินหวาก (กะแช่) อยู่ที่ใกล้หนองคลอด ทุ่งหัวคด (ขึ้นกับตำบลโตนดด้วน) เจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย จ่านายสิบตำรวจสิริ แสงอุไร นายสิบตำรวจตรีนำ นาควิโรจน์ และ พลตำรวจร่วง สามารถ จึงได้เข้าจับกุม ทั้งสองฝ่ายยิงต่อสู้กันเป็นสามารถจนหมดกระสุน จ่านายสิบตำรวจสิริเหลือกระสุนอยู่เพียงนัดเดียว จึงแกล้งทำเป็นหมอบระวังอยู่ ดำหัวแพรคิดว่าถูกกระสุนที่ตนยิงไปจึงวิ่งปีบ (ร้องตะโกน) เข้าไป หมายจะเชือดคอด้วยพร้าลืมงอประจำตัว พอเข้าไปใกล้ก็ถูกยิงสวนถูกคางล้มลง สมุนของดำหัวแพรเข้าไปช่วยพยุง ตำรวจทั้งสามคนก็วิ่งหนี ด้วยเป็นเวลาจวนค่ำและไม่ทราบจำนวนที่แท้จริงของพวกคนร้าย มีผู้ที่จำกลอนที่กล่าวถึงเรื่องนี้ (ไม่ทราบผู้แต่ง) ได้บ้างว่า "จ่าสิริ สิบตรีนำ ยิงอ้ายดำหัวแพรพลัดแงลง" บางคนจำได้ว่า "จ่าสิริสิบตรีนำ ยิงอ้ายดำหัวแพรแคหนองคลอด"
   นายสีเล่าว่าผู้ที่เข้าไปช่วยพยุงดำหัวแพร คือ แจ้ง ห้วยท่อม และหมุด (จำบ้านที่อยู่ไม่ได้) คนทั้งสองฝ่ายช่วยกันพยุงดำหัวแพรไปถึงใกล้หนองไผ่หรือหนองขี้หมา ก็ให้นอนพักแล้วบอกจะไปหายาหาข้าวมากินกัน เมื่อกลับมาอีกครั้งก็พบดำหัวแพรแขวนคอตายอยู่ใกล้หนองไผ่นั่นเอง จึงได้ช่วยกันฝังศพไว้ ณ ที่นั้น
    อีกสองวันต่อมาเจ้าหน้าที่ตามไปพบก็ให้ขุดศพขึ้นมาแล้วนำไปผูกประจานไว้กับต้นตาลหน้าวัดกุฏิ ศพเน่าแล้วก็ให้เผา ณ ใกล้ๆ ต้นตาลนั้นเอง มีเรื่องเล่ากันอีกว่า ผีดำหัวแพรดุมาก กลางคืนไม่ค่อยมีใครกล้าเดินผ่าน บางทีมีคนเอาไม้เรียวไปเฆี่ยนตรงที่เผาศพและใช้ให้ผีไปเข้าสิงคน
    เมื่อดำหัวแพรตายแล้ว ก็ไม่มีใครกล้าตั้งตัวเป็นหัวหน้าชุมโจรอีกเลย ประกอบกับพวกโจรถูกจับกุมไปดำเนินคดีจนหมด รายชื่อที่ทางการต้องการตัว กองอำนวยการปราบปรามก็เลยยุบเลิกในปลายปี พ.ศ.2463 นั่นเอง
   ตำรวจทั้งสามคนที่ร่วมกันพิชิตดำหัวแพร ทางราชการได้ดำเนินการ ขอพระราชทานเครื่องราชอิสระยาภรณ์เป็นความดีความชอบ คือ
    จ่าสิบตรีสิริ แสงอุไร ได้รับพระราชทานเหรียญทองช้างเผือก
    ทำการนายสิบตำรวจโทนำ นาควิโรจน์ ได้รับพระราชทานเหรียญทองมงกุฎไทย
    ว่าที่นายสิบตำรวจตรีร่วง สามารถ ได้รับพระราชทานเหรียญทองมุงกุฎไทย
    (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 38 วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2564 หน้า 316)

ข้อเขียนและคำบอกกล่าวบางเรื่องที่เห็นควรบันทึกไว้ด้วยมือ
    1.ชื่อดำหัวแพร ได้ชื่นเช่นนี้เพราะเป็นคนมีผมดำสลวยงามกว่าชาวบ้านทั่วไป (ที่มักมีผมหยิก) ตอนเป็นเด็กนิยมโพกหัว ผ้าแพรสีเขียว พระมหาเล็กฉันทโก วัดสุวรรณวิชัย เล่าว่า ได้ทราบมาว่าผ้าแพรนั้นเป็นแพรอย่างหนา พวกโจรมักนิยมนำติดตัวไปด้วย เพราะแพรดังกล่าวนั้นใช้คัดเลือด (บังคับให้เลือดหยุดไหล) ได้
   2.เรื่องคณะชุมโจรที่มีเป็นจำนวนมากนั้น อะไรเป็นเครื่องจูงใจและเป็นสิ่งผูกมัดให้ร่วมมือกัน ปัญหาเรื่องนี้ได้ความว่าส่วนใหญ่มักเป็นคนมีคดีติดตัว และมีอยู่อีกไม่น้อยที่มาเป็นพรรคพวกก็เพราะม่ต้องการเสียภาษี และเงินรัชชูปการ หัวหน้าโจรทั้งสองคือ รุ่งดอนทรายและดำหัวแพร ให้ความเป็นธรรมในการแบ่งทรัพย์ที่หามาได้ การดูแลลูกน้องมีลักษณะจัดตั้งโดยถือระบบอาวุโสและความสามารถ มีสัญลักษณ์ที่บอกให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน คือ การแบกพร้าลืมงอที่เรียกว่า แบบบังหู คือ แบกให้ส่วนงอของคอพร้าคร่อมบ่าพอดี ดึงด้ามเข้าแนบตัวจนตัวพร้าขึ้นไปบังหูพอดี และที่บุคคลอื่นไม่กล้าแบกเลียนแบบนั้น นอกจากกลัวโจรแล้วยังกลัวเจ้าหน้าที่จับกุมอีกด้วย นอกจากนั้นพวกโจรยังเคร่งเรื่องข้อห้ามที่มิให้ชาวบ้านติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยเด็ดขาด ใครไม่เชื่อจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง (มีกรณีตัวอย่าง นายแดง บ้านจันนา ต่อนกเขาได้จะนำไปให้จ่าแช่ม พวกโจรรู้ข่าวก็ตามไปทันที่ศาลาบ้านท่าพลับ จึงจับตัวและใช้ตาปูตอกมือติดไว้กับเสาศาลาและให้ปล่อยนกเขาเสีย เป็นต้น)
    3.เรื่องการตายของดำหัวแพร มีข้อเขียนความต่างออกไป เช่นว่า ถูกเสียบทวารตายบ้าง (ดู จำลอง พลเดช "ดำหัวแพร" ฟ้าเมืองทอง มีนาคม พ.ศ.2526 หน้า 16) ถูกยิงตกต้นตาลตายบ้าง ได้สอบถามจากคนใกล้ชิดคือนายสี (ที่มีเพลงกล่าวถึงว่า "อ้ายสุก อ้ายสี มันหนีออก ตัดสินขังคอก ให้ตลอดชีวิน" ขณะนี้ (พ.ศ.2527) ยังมีชีวิตอยู่ ติดคุกจริง 13 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475) และ พระนำ วัดสุวรรณวิชัย เป็นต้น ได้ความจริงดังกล่าวมาแล้วนั้น
    4.เรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ดำหัวแพร ที่มีทั้งข้อเขียนและคำบอกเล่าทั่วไปนั้น ผู้เขียนได้เคยไปดูรูปปั้นที่เขาชังกั้ง เมื่อปี พ.ศ.2497 (คือรูปที่ปรากฏในหนังสือเที่ยวเมืองใต้ ของ ไสวย นิยมจันทร์) ปรากฏว่าส่วนที่เป็นพร้าหักหายไปเสียแล้ว มีจารึกที่ฐานรูปว่า "เทพดาประจำเขาชังกั้งนี้"แปลว่าคือเกะกะ
    อาจารย์เทพ บุณยประสาท อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพัทลุงเล่าว่า แต่เดิมมีป้ายแขวนไว้กับพร้าว่า "อย่าเอาอย่างอ้ายชังกั้งนี้โว้ย" ไม่เคยมีข้อความใดบ่งบอกว่าเป็นอนุสาวรีย์ของดำหัวแพร และเล่าว่ารูปนี้แต่เดิมเจ้าคุณคณาศัยให้ปั้นพระพุทธรูปเพื่อประดิษฐานไว้ในถ้ำมีปูนซีเมนต์เหลือจึงให้ปั้นรูปนักเลงหัวไม้ ตั้งไว้หน้าคุกเพื่อไม่ให้ใครเอาเยี่ยงอย่าง การอ้างว่าเป็นอนุสาวรีย์โจรเป็นเรื่องว่ากันไปเอง
    ยังมีรูปที่ถ้ำนางคลอด วัดคูหาสวรรค์อีกแห่งหนึ่งมีผู้อ้างว่าเป็นรูปปั้นดำหัวแพร (ดูชัยยันต์ ศุภกิจ "อนุสาวรีย์โจร" เดลินิวส์ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2523 หน้า 7) ขอเรียนว่ารูปดังกล่าวนั้นภิกษุรูปหนึ่งดูเหมือนชื่อพระคล้าย ได้ปั้นขึ้นประมาณปี พ.ศ.2495 เป็นต้น ตอนผู้เขียนไปดูเมื่อปี พ.ศ.2497 ยังปั้นไม่สำเร็จ และรูปที่ปั้นไว้ก็ไม่ใช่รูปที่ปรากฏในหนังสือของ ไสวย นิยมจันทร์ (ดูเอนก นาวิกมูล "อนุสาวรีย์ชังกั้งอยู่ที่ไหน" เดินทางท่องเที่ยว มีนาคม พ.ศ.2523 หน้า 75)
    5.เรื่องครอบครัวของดำหัวแพรรวมไปถึงรุ่งดอนทรายที่ต้องบันทึกไว้ด้วย ก็เพราะปรากฏข้อเขียนเป็นใจความว่า หัวหน้าโจรมีภรรยามากต้องการลูกใครเมียใครก็ฉุดเอาตามใจ ฯลฯ (ดูเอนก นาวิกมูล เรื่องเดิม อ้างถึงข้อเขียนของนายอำเภอชื่น ทองศิริ อดีตนายอำเภอกระบุรี) เรื่องนี้ผู้เขียนได้พยายามสอบถามจากผู้ที่เคยใกล้ชิด และตอนเด็กๆ ผู้เขียนเคยได้ยินภรรยาของรุ่งดอนทรายคนหนึ่ง (ชื่อซั่น) กล่าวถึง รุ่งดอนทรายด้วยความภาคภูมิใจ ได้รายละเอียดดังนี้
รุ่งดอนทรายมีภรรยา 4 คน คือ
    นางหิ้น มีลูกด้วยกัน 4 คน
    นางเริง มีลูกด้วยกัน 1 คน
    นางทอง มีลูกด้วยกัน 2 คน
    นางซั่น ไม่มีลูกด้วยกัน ทุกคนได้มาโดยสมัครใจ ไม่เคยปรากฏว่าไปฉุดเอาตามอำเภอใจ และหากมีนิสัยชอบฉุดลูกเมียเขาก็คงไม่เป็นที่เลื่อมใสของลูกน้อง ซึ่งมีอยู่มากอย่างแน่นอน
    รุ่งดอนทรายนั้น มีแม่ชื่อ ด้วง มีพี่น้องด้วยกัน 4 คน คือชื่อ หวัญ (หญิง) ไข่โมง รุ่ง (ดอนทราย) และ แจ้ง
    ดำหัวแพร มีภรรยา 3 คน คือ นางผลี้ นางร่ม สองคนนี้ไม่มีลูกด้วยกัน อีกคนหนึ่งชื่อจัน มีลูกสาว 1 คน ปัจจุบันลูกสาวคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่ทราบเรื่องราวของพ่อเพราะตอนพ่อตายอายุเพียง 2 ขวบ

จากหนังสือ "วัดดอนศาลา" ที่ระลึก ฉลองศาลาการเปรียญและทอดผ้าป่าสามัคคี 8-10 กันยายน 2532
จัดพิมพ์โดย คุณธีระทัศน์ ยิ่งดำนุ่น และ คุณจำเริญ เขมานุวงศ
Powered by www.Muanglung.com